ประวัติความเป็นมา

    มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พุทธศักราช 2514 เป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชา ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ที่ด้อยโอกาสในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมการณ์ศึกษา เมื่อปีพุทธศักราช 2538 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ดำเนินนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษาจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ได้ศึกษาหาความรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาหน้าที่การงานพัฒนาสังคมและท้องถิ่นของตนให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

    มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติโดยขอความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในแต่ละจังหวัด รวมทั้งการใช้งบประมาณรายจ่ายจากงบรายได้ของมหาวิทยาลัย ต่อมาในปีพุทธศักราช 2539 เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศร่วมกันเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ประบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติครบ 50 ปี ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ มหาวิทยาลัยจึงน้อมเกล้าฯถวายโครงการ สาขาวิทยบริการส่วนภูมิภาค เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเทิดพระเกียรติร่วมเฉลิมฉลองในปีกาญจนาภิเษกพร้อมๆ กับประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อเรียกแต่ละสาขาวิทยบริการฯ ว่า “สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ”

  พ.ศ. 2541  โดยสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ   กระทรวงศึกษาธิการ   ได้ทำข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง     ขอให้เปิดสอนระดับปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  และสาขาวิชาหลักสูตรและการสอนในส่วนกลาง    ต่อมาได้ขยายไปเปิดที่ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ        อีกหลายจังหวัดด้วยกัน     พ.ศ. 2545    สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสุรินทร์  ได้ติดต่อประสานงานกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง  เพื่อขอให้มหาวิทยาลัย     จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโท   สาขาวิชาการบริหารการศึกษา   และสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน ที่จังหวัดสุรินทร์    ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ      ที่ต้องการพัฒนาบุคลากรสายผู้บริหารและสายผู้สอนให้มีศักยภาพสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษา     ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ. 2542 ท่านอธิการบดีรังสรรค์  แสงสุข    ได้อนุมัติให้เปิดสอนปริญญาโท สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  และสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน  ได้รับความร่วมมือจาก   นายประเสริฐ  ดุจเพ็ญ  ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาล จังหวัดสุรินทร์  ได้อนุเคราะห์ให้ใช้สถานที่ของโรงเรียนอนุบาลเป็นที่เรียนชั่วคราวโดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโททั้ง  2  สาขา   และต่อมาได้เปิดสอนสาขาวิชารัฐศาสตร์

   พ.ศ. 2547   นายเกษมศักดิ์  แสนโภชน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์   ร่วมกับคหบดี   สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล  พ่อค้า  ประชาชน  ได้เสนอให้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ทั้งแปลง    จำนวน  427  ไร่  2  งาน  11 ตารางวา  ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสว่าง  พิจารณาการขอใช้ที่ดินดังกล่าว   ในที่สุดได้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมประชาคมจากชาวบ้าน   มอบที่ดินให้มหาวิทยาลัย  ในเบื้องต้น   100   ไร่  ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ทุ่งละเอ็น   ตำบลท่าสว่าง  อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ เป็นที่สร้างอาคารเรียนรวม3ชั้น โดยได้รับการ บริจาคเงิน  จำนวน   20,832,330.00บาท  จากนายสรรเสริญ    จุฬางกูร       ประธานบริษัท ซัมมิท  ออโต้ บอดี้  อินดัสตรี้จำกัด  และครอบครัว  ต่อมาได้เปิดใช้เป็นที่เรียนในเดือนมกราคม  พ.ศ.2549 จากวันที่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน  สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุรินทร์ ได้สนับสนุนการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ออกไปรับใช้สังคมเป็นจำนวนมาก  ซึ่งบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้พิสูจน์ให้สังคมยอมรับและประจักษ์ในคุณภาพว่ามีความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะ และมีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพที่ได้ศึกษา ตลอดจนมีจิตสำนึกที่ดีต่อสถาบันที่ให้โอกาสทางการศึกษา สมกับความต้องการของมหาวิทยาลัยที่จะผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม  นับเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยและชาวรามคำแหงทุกคนที่ให้โอกาสกับชาวไทยผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน สมกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า     “ส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา   ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม”  และปรัชญาของสาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุรินทร์ ที่ว่า “บริการการศึกษา สนับสนุนการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม ร่วมพัฒนาชุมชน”

รายนามผู้ก่อตั้ง

รองศาสตราจารย์รังสรรค์  แสงสุข 

นายสรรเสริญ  จุฬารกูร 

นายเกษมศักดิ์  แสนโภชน์ 

นายธงชัย   มุ่งเจริญพร

 
นายชูชัย   มุ่งเจริญพร

 
นายประเสริฐ  ดุจเพ็ญ 

 
นายวรรณธนินทร์  ตั้งทวีสิทธิ์

 
นายประดุจ มั่นหมาย

 
นายชูศักดิ์  แอกทอง

 
นายสุดทอง  หายทุกข์

 
นายปริญญา กรวยทอง

  
นายวิโรจน์  ดีใจ